มหาธาตุวิทยาลัย
เล่าเรื่อง "มหาธาตุวิทยาลัย"
ที่คณะ ๑ วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร ณ หอปริยัติ ทางด้านเหนือ มีป้ายขนาดใหญ่ทำด้วยไม้ ๒ ป้าย เป็นอักษรไทย และอักษรขอม อ่านว่า มหาธาตุวิทยาลัย เหมือนกัน คนที่ผ่านไปมาเห็นแล้วอาจจะไม่มีความสนใจว่า เขาติดป้ายดังนี้ไว้ทำไม ข้าพเจ้าจึงปรารถนาจะทำความเข้าใจตามที่ได้รู้มา
ที่จริงป้ายตัวจริงนั้นเป็นอักษรขอมอ่านว่า มหาธาตุวิทยาลัย อย่างเดียว แต่ไม่ได้อยู่ที่วัดมหาธาตุในเวลานี้เดี๋ยวนี้ป้ายนั้นเก็บไว้ที่
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพราะถือว่าเป็นโบราณวัตถุชิ้นหนึ่งของชาติไทย ทำไมจึงเป็นวัตถุสำคัญ? ตอบว่าเพราะคำว่า มหาธาตุวิทยาลัย นี้เฉพาะคำว่า วิทยาลัย เป็นคำที่พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่๕ ทรงบัญญัติคำนี้เป็นคำแรกว่า มหาธาตุวิทยาลัย คำว่าวิทยาลัยอื่นเช่น สวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นต้น บัญญัติใช้หลังจากคำว่า มหาธาตุวิทยาลัย
ข้าพเจ้าได้ความรู้จากอาจารย์กิม
หงส์ลดารมภ์เล่าให้ฟังว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสประเทศลังกาได้ทรงทอดพระเนตรเห็นชื่อสถานศึกษาชั้นสูงให้คำว่า วิทโยทัย เมื่อ
เสด็จนิวัติกลับประเทศไทยแล้วมีพระราชประสงค์ให้พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายจัดการศึกษาของพระสงฆ์ ในระดับสูงอย่างที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรมาและทรงมีพระราช
ประสงค์ให้สมเด็จพระวันรัต(ฑิต อุทยมหาเถร)
ครั้งนั้นดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพโมลีจัดการศึกษาที่วัดมหาธาตุจะพระราชทาน
ชื่อว่า มหาธาตุวิทโยทัย สมเด็จพระวันรัต(ฑิต) ถวายพระพรว่าควรใช้ว่า มหาธาตุวิทยาลัย เหมาะกว่าเพราะมาจากคำว่า วิทยา ความรู้กับ อาลัย ที่อยู่รวมกันเป็นวิทยาลัย แปลว่า สถานที่อยู่ของความรู้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นชอบด้วยจึงพระราชทานนามสถานศึกษาแห่งนี้ว่า มหาธาตุวิทยาลัย และได้โปรดเกล้าฯให้ทำป้ายชื่อเป็นอักษรขอมอ่านว่า มหาธาตุวิทยาลัย ติดตั้งไว้ที่วัดมหาธาตุนี้ต่อมาป้ายนี้ไปประดิษฐานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตราบเท่าทุกวันนี้
คำว่า มหาธาตุวิทยาลัย นี้
ยังมีคำต่อท้ายว่าในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วยเมื่อสมัยที่ข้าพเจ้ายังเป็นสามเณร
ในพ.ศ.
๒๔๘๔–๒๔๘๘ นั้น สามเณรวัดมหาธาตุถึงกำหนดอายุครบอุปสมบทที่สอบเปรียญธรรมได้
แล้วนิยมพิมพ์บัตรลาอุปสมบทพิมพ์บอกชื่อสามเณรที่จะอุปสมบทลงวุฒิที่สอบได้
แล้วจะบอกว่านิสิตมหาธาตุวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ขอลาอุปสมบทณพัทธสีมา
วัดมหาธาตุ
คำว่า ในพระบรมราชูปถัมภ์นี้ ข้าพเจ้าได้ฟังพระอุปัชฌาย์ คือ พระพิมลธรรม
(ช้อย ฐานทตฺตเถร) เล่าให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕
ได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์มหาธาตุวิทยาลัย เดือนละ ๘๐๐ บาท
ต่อมาได้พระราชทานแบ่งไว้วัดสุทัศน์ ๔๐๐ บาท เพราะวัดสุทัศนเทพวราราม
เป็นสถานที่สอบเปรียญสมัยรัชกาลที่ ๕ มีสมเด็จพระวันรัต (แดง)
เป็นแม่กองบาลี เมื่อข้าพเจ้าไปรับราชการที่กรมการศาสนา
ได้เบิกเงินบำรุงการศึกษาจากกองศาสนูปถัมภ์ ซึ่งเดิมเรียกว่า กองสังฆการี
ตามประวัติของกรมการศาสนา ได้รวมกรมสังฆการี กรมกัลปนา และกรมราชบัณฑิต
มาเป็นกรมธรรมการ แล้วยกขึ้นเป็นกระทรวงธรรมการ
มีตราเสมาธรรมจักรเล็กเป็นตราประจำกรมธรรมการ และตราเสมาธรรมจักรใหญ่
เป็นตราประจำกระทรวง เป็นที่เข้าใจกันว่า เงินที่จ่ายบำรุงการศึกษานั้น
สืบเนื่องมาจากกรมสังฆการี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ พระราชทานมหาธาตุวิทยาลัย
และมีการจ่ายบำรุงการศึกษาที่วัดสุทัศน์ วัดอนงค์ เป็นต้น จากกองสังฆการี
ซึ่งเป็นเงินในพระบรมราชูปถัมภ์ติดต่อกันมา
ต่อมาทางกรมการศาสนาได้จ่ายบำรุงวัดไปเพราะเจ้าหน้าที่ชั้นหลังไม่รู้เรื่องเดิม
เมื่อมีมหาธาตุวิทยาลัยเกิดขึ้นที่วัดมหาธาตุซึ่งมีป้ายบอกนามดังกล่าวมา
แล้วได้มีการประกาศตั้งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเมื่อวันที่๑๘กรกฎาคม๒๔๘๙
ณตำหนักสมเด็จวัดมหาธาตุคนส่วนมากเข้าใจว่า มหาธาตุวิทยาลัย นั้นหมดไปแล้วคงเหลือแต่ชื่อที่ทรงจำกันมาเท่านั้น
เรื่องนี้ขอเล่าเพิ่มเติมหน่อยว่าเมื่อสมัยรัชกาลที่๗พระบาทสมเด็จพระปก
เกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองราชสมบัตินั้นเศรษฐกิจของบ้านเมืองตกต่ำที่สุดจนถึง
มีการให้ข้าราชการออกจากราชการโดยไม่มีความผิดเพื่อลดงบประมาณการจ่ายเงิน
ให้น้อยลงเรียกว่า ดุล ข้าราชการที่ออกไปนั้นเรียกว่า ถูกดุล
มีผลกระทบกระเทือนถึงพระสงฆ์ที่เป็นเปรียญธรรมเคยได้รับนิตยภัตเมื่อได้
เปรียญ๓ประโยคมีราคาตำลึงกึ่งคือจำนวน ๖ บาท
ถูกตัดงบประมาณเรื่องนิตยภัตไปด้วย
โดยงดจ่ายนิตยภัตสำหรับเปรียญรุ่นใหม่ที่สอบได้ในพ.ศ. ๒๔๗๕
ต่อมาส่วนที่ได้รับพระราชทานก่อนนั้นคงได้รับต่อไปเรื่องนี้สมเด็จพระวัน
รัต(เฮง
เขมจารีมหาเถร) เห็นว่าเป็นความเสื่อมของการศึกษาพระปริยัติจึงได้ให้บรรดา
พระเถรานุเถระผู้เป็นศิษย์ช่วยบอกบุญผู้มีศรัทธาร่วมบริจาคปัจจัยเป็นกองทุน
เพื่อให้เกิดดอกผลบำรุงการศึกษาพระปริยัติธรรมที่มหาธาตุวิทยาลัยแล้ว นำฝากไว้ที่สำนักงานพระคลังข้างที่ในพระบรมมหาราชวังกองทุนนี้เรียกชื่อว่า “นิธิสมบัติแห่งมหาธาตุวิทยาลัย”
ทางพระคลังข้างที่ได้จัดการหาผลประโยชน์โดยการให้กู้ซื้อหุ้นและมีอาคาร
ที่ดินเป็นการเก็บผลประโยชน์ได้ตั้งงบประมาณโดยผ่านคณะกรรมการของพระคลัง
ข้างที่และได้มีพระบรมราชโองการโปรดให้จ่ายตามงบประมาณแต่ละปี
การนำกองทุนนิธิสมบัติแห่งมหาธาตุวิทยาลัยฝากไว้กับสำนักงานพระคลังข้างที่
นี้ด้วยการแนะนำของกรมพระยาดำรงราชานุภาพและสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ สมเด็จพระวันรัต(เฮง
เขมจารีมหาเถร) เห็นชอบด้วยได้มีการเบิกจ่ายเงินนี้จากสำนักงานพระคลังข้างที่ประจำทุกเดือน เพื่อเป็นการบำรุงการศึกษาพระปริยัติธรรมของมหาธาตุ
วิทยาลัยผู้ลงนามเบิกคือไวยาวัจกรมหาธาตุวิทยาลัย คือ ข้าพเจ้านายสิริ
เพ็ชรไชยและผู้ลงนามกำกับ คือ นายกมหาธาตุวิทยาลัยได้แก่อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ
เวลานี้คือ พระธรรมสุธี (พีร์ สุชาโต)
สรุปแล้วเห็นว่าคำว่า“มหาธาตุวิทยาลัย”นี้
ยังมีอยู่โดยเป็นนามของสำนักเรียนวัดมหาธาตุส่งพระภิกษุสามเณรสอบบาลีและ
นักธรรมสนามหลวงซึ่งรวมเป็นนามของอาคารเรียนมหาธาตุวิทยาลัยโดยนิธิสมบัติแห่งมหาธาตุวิทยาลัยเป็นกองทุนอุปถัมภ์สำนักเรียนและอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุดำรงตำแหน่งนายกมหาธาตุวิทยาลัยตลอดไป.
สิริ เพ็ชรไชย
ไวยาวัจกรมหาธาตุวิทยาลัย
http://www.mahathatde.com
ภาพ : โครงการพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น